#AceWeek: หยุดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Asexual
🗓 วันที่ 23-29 ตุลาคม คือสัปดาห์แห่งการตระหนักรู้อัตลักษณ์ Asexual! สัปดาห์นี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกลุ่ม Asexual และอัตลักษณ์อันหลากหลายใต้ร่ม Asexual พูดง่ายๆ คนกลุ่มนี้ไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น หรือรู้สึกแต่น้อยมาก เป็นครั้งคราว อัตลักษณ์นี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันยังมีน้อยคนที่เข้าใจและการตีตราเกิดอยู่บ่อยครั้ง
👨👩👧 เมื่อสังคมเชื่อว่าความรักต้องเกิดขึ้นระหว่างคนต่างเพศเท่านั้น และการมีลูกคือเป้าหมายสูงสุดของความสัมพันธ์แบบโรแมนติก แน่นอนว่าอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากนี้จะถูกกีดกันและยากที่สังคมจะยอมรับ รวมถึง Asexual ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่เราควรตระหนักคืออัตลักษณ์ Asexual มีอยู่จริง และเราต้องให้พื้นที่กับเขาอย่างเท่าเทียม!
⬇️ นี่คือความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ บางส่วนที่ยังแพร่หลาย และเป็นอันตรายต่อชุมชม Asexual
❌ Asexual เป็นอาการป่วยทางจิต
✅ Asexual เป็นเพศวิถีหนึ่งของมนุษย์ ไม่ต่างจากเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล และไม่ใช่เรื่องที่ต้องรักษาให้หาย
❌ Asexual เกิดจากบาดแผลเรื่องเซ็กส์ในอดีต
✅ อย่างที่หลากหลายงานวิจัยได้พิสูจน์แล้วว่า เพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศคือตัวตนของเรา ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นมาหรือเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ
❌ Asexual ‘ทุกคน’ รังเกียจเซ็กส์ และไม่มีเซ็กส์เลย
✅ หลายคนที่นิยามตัวเองว่า Asexual สามารถรู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศได้ เพียงแต่จะรู้สึกแค่บางโอกาส หรือมีเงื่อนไขเฉพาะ หรือบางคนไม่ได้รู้สึกเลยก็สามารถมีเซ็กส์ได้ เพราะ Asexual มีความลื่นไหลและหลากหลายในตัวเอง
❌ ถ้าเป็น Asexual ก็ต้องไม่อยากมีความรักด้วยแน่ๆ
✅ แรงดึงดูดทางเพศ และแรงดึงดูดทางใจ (ความรู้สึกแบบรักโรแมนติก) คือสองอย่างที่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง และคน Asexual จำนวนมากก็มีคนรักและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
#WeAreManushyan ♾️ Equal Human Beings
✊มานุษยะขอยืนยันจะยืนเคียงข้างทุกคนที่นิยามตัวเองด้วยอัตลักษณ์ Asexual ทุกๆ เฉดของอัตลักษณ์ Asexual มีความสวยงามในตัวเอง และพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTIQ+ เช่นเดียวกัน เราขอสนับสนุนให้สังคมเคารพการนิยามตัวเองของคนเพศหลากหลาย เปิดใจให้กว้าง และไม่หยุดที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายในโลกมนุษย์
Comments