top of page
Writer's pictureManushya Foundation

การลอยนวลพ้นผิดจากการสังหารหมู่ชาวมลายู-มุสลิมในภาคใต้ 🚨#25ตุลาคม: 19 ปี สังหารหมู่ 'ตากใบ'


เกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ?


กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์เริ่มจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประท้วงที่ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุม 6 คน และต่อมารัฐได้ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงและมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนส่งผู้ต้องหา 85 ศพ และสูญหายอีกจำนวนมากกว่า 60 คน


เกิดอะไรขึ้นกับผู้ชุมนุม?


หลังจากการชุมนุมนี้และมีการสลายจากฝ่ายทหารโดยคำสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 4 โดยเริ่มจากการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม ต่อมามีการใช้แก๊สน้ำตาและสิ้นสุดด้วยการยิงกระสุนจริง มีรายงานว่าไม่มีการแจ้งผู้ชุมนุมก่อนล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมตากใบนี้ โดยในการชุมนุมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทันทีอย่างน้อย 7 ราย และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากมาย ทั้งผู้ที่มาชุมนุมรวมไปถึงชาวบ้านในละแวกนั้นด้วย โดยเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมกว่า 1,370 คนในลักษณะให้นอนคว่ำซ้อนทับกันเป็นชั้นขึ้นรถบรรทุกทหาร ซึ่งบางคันนอนคว่ำซ้อนทับกันถึง 4-5 ชั้น เพื่อส่งไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ใน จ.ปัตตานี


ยอดผู้เสียชีวิต - ‘การสังหารหมู่ตากใบ’ :

ในการเดินทางระยะทาง 150 กิโลเมตร ใช้เวลา 6 ชั่วโมง จากสถานีตำรวจตากใบไปยังป้อมอิงคยุทธบริหาร ประชาชนจำนวนมากขาดอากาศหายใจเสียชีวิต โดยรวมแล้ว มีผู้เสียชีวิต 78 รายในระหว่างการเดินทางขณะที่ 6 รายเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม และ 1 รายเสียชีวิตในโรงพยาบาล


นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมจำนวน 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน) ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแกนนำ และถูกสั่งฟ้อง 6 ข้อหา ได้แก่ข้อหาข่มขืนใจเจ้าพนักงาน, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ, ครอบครองปืนเถื่อน และไม่ยอมสลายการชุมนุม


ใครต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้?


นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ CareTalk x Care ClubHouse เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ไว้ว่า ขณะเกิดเหตุตนได้ตีกอล์ฟอยู่ย่านบางนา และได้รับรายงานว่ามีการไปล้อมโรงพักเพื่อจะให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่านำอาวุธไปส่งให้กับผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งหลังจากมีการสลายชุมนุม และมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมไป แต่หลังจากนั้นไม่รู้เลยว่าจับยังไง เอาไว้ที่ไหน ไม่มีใครรายงาน มารู้อีกทีก็มีการตายเกิดขึ้น


นอกจากนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ยังกล่าวถึงในส่วนของการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่สูญเสียโดยการตั้งคำถามไปยังอดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะอดีต ผบ.ทบ.ขณะนั้น ซึ่งน่าจะรู้เรื่องทหารดี พร้อมทั้งถามถึงการชดเชยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อตนเองไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป


ซึ่งหลังจากนายทักษิณ ชินวัตรได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตากใบ ทางนักข่าวได้มีการไปสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้ที่ถูกกล่าวถึงในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพภาค4 ในขณะนั้น ซึ่งแน่นอนว่าพล.อ.ประวิตร เลี่ยงคำถามโดยขึ้นรถและเดินทางกลับทันที


การไม่ต้องรับโทษจากการสังหารชาวมลายู-มุสลิม


ณ วันนี้ ยังไม่มีใครรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ตากใบ! แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเจ็บช้ำเจ็บปวดให้กับครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดน รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ ปฏิเสธพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนนำรัฐบาล อย่างไทยรักไทย ต่อเนื่องถึงพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งพรรคเพื่อไทย


#WeAreManushyan ♾ Equal Human Beings


ข้อเรียกร้องของเรา


มานุษยะขอยืนหยัดเคียงข้างผู้ชุมนุม ผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม

‘ตากใบ’ รวมไปถึงการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อันเลวร้ายในครั้งนี้ต้องได้รับโทษทางกฎหมาย รวมไปถึงการชดเชยและเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสียก่อนที่คดีจะหมดอายุความลงในปี 2567


#25ตุลา #19ปีตากใบ #ทักษิณ #ประวิตร #ตากใบ #ตากใบกรือเซะ


อ้างอิงจาก

- “ย้อนรอย16ปี "ตากใบ" ทำไม 'ทักษิณ' ถูกจี้ตอบ,” 2019 https://d.dailynews.co.th/politics/827146/

- "ทักษิณ" เล่า 18 ปี เหตุการณ์ตากใบ โยนถาม "ประวิตร" ชดเชยอย่างไร. (2022, October 26). Thai PBS. https://www.thaipbs.or.th/news/content/320834


Comments


bottom of page