ทำไมพื้นที่ออนไลน์ต้องปลอดภัยสำหรับ LGBTIQ+
คำเตือน: มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำพูดแฝงความเกลียดชัง ความรุนแรง และความรุนแรงทางเพศ
เดินทางมาถึงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนไพรด์ หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศและเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม แม้เดือนไพรด์จะใกล้จบลง แต่ไม่ได้หมายความว่าการสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาและความรุนแรงต่อคนเพศหลากหลายต้องจบลงตามไปด้วย ซึ่งพื้นที่ออนไลน์ก็เป็นอีกพื้นที่ที่ชุมชน LGBTIQ+ ต้องเผชิญกับความรุนแรงมากที่สุด โดยความรุนแรงที่ว่ามักมาในรูปแบบของ “Hate speech” หรือคำพูดหรือการกระทำที่แฝงไปด้วยความเกลียดชัง เพื่อโจมตีบุคคลหนึ่งด้วยเพศ ความพิการ เชื้อชาติ สีผิว หรือลักษณะส่วนตัวอื่นๆ
กลุ่มเปราะบางในสังคมคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจาก Hate speech มากที่สุด คำพูดเหล่านี้ยิ่งส่งผลให้การตีตรารุนแรงขึ้น ยิ่งโซเชียลมีเดียกลายเป็นเหมือนโลกอีกใบของคนในสังคมปัจจุบัน ยิ่งทำให้ Hate Speech เกิดขึ้นง่ายและไวยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การโจมตีด้วยคำพูดไม่ใช่แค่ “คอมเมนต์หนึ่งในอินเตอร์เน็ต” ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราควรมองข้ามไปง่ายๆ เพราะ Hate Speech นำไปสู่ผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตของคนที่ถูกโจมตี หรือใครก็ตามที่ผ่านมาเห็นและมีอัตลักษณ์ร่วมกัน อีกทั้งยังผลักคนชายขอบออกไปจากพื้นที่ออนไลน์ ที่สำคัญ กลุ่ม LGBTIQ+ คือหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับถูกกดทับจากคำพูดลักษณะนี้มากที่สุด เพราะเพศสภาพและเพศวิถีที่แตกต่างออกไปจากกรอบธรรมเนียมเดิมของสังคม
เราอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงการเลือกปฏิบัติและอคติที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเจอในชีวิตประจำวัน ต่อจากนี้คือเสียงจากคนเพศหลากหลายที่เผชิญความเจ็บปวดจากคำพูดรุนแรงในโลกออนไลน์และก้าวข้ามผ่านมันมาได้ จากประสบการณ์จริงเหล่านี้ เราชวนให้พวกเขาวาดฝันถึงโลกออนไลน์ที่พวกเขาอยากเห็น
ทันหยก ธวัลรัตน์ (They/Them)
เราเคยส่งภาพของตัวเองไปจัดแสดงในงานนิทรรศการและมีสื่อลงรูปเราและเรื่องราวของเราที่เปิดเผยตัวว่าเป็นนอนไบนารีในแพลตฟอร์มออนไลน์ ในตอนนั้น อัตลักษณ์นอนไบนารี่ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในสังคม บวกกับความทับซ้อนที่เราเป็นโรคซึมเศร้า คนเลยยิ่งยอมรับได้ยากว่าการที่เรานิยามเป็นนอนไบนารีนั้นไม่ได้มาจากการที่เราป่วย
เราจำได้ว่าวันที่รูปเราเผยแพร่ออกไปในสื่อ เราต้องเจอกับข้อความที่เกลียดชังจำนวนมาก เราอ่านได้แค่สองถึงสามคอมเมนต์ก็ต้องปิด เพราะมันรุนแรงมาก เราไม่ได้เข้าโซเชียลเลยหลังจากนั้นประมาณ 1-2 อาทิตย์
หนึ่งในคอมเมนต์เขียนว่า “สมควรแล้วแหละที่เป็นแบบนี้ ดูเป็นบ้าจริงๆ” ซึ่งเรารู้สึกว่ามันแย่มาก จุดประสงค์ของการเล่าเรื่องที่เราเป็นนอนไบนารีพร้อมกับเป็นโรคซึมเศร้าคือเราอยากยืนยันว่าการที่เราป่วยทางจิตใจไม่เกี่ยวกับที่เราเป็นนอนไบนารี สำหรับตัวเราเอง อาการป่วยทางจิตกับอัตลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน เราต้องการสื่อสารเพื่อที่จะลบล้างอคติที่สังคมยังคงตีตราสภาวะเหล่านี้ว่าเป็นความผิดปกติ การที่เราป่วยโรคจิตเวช ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงเพื่อปฏิเสธหรือลบเลือนอัตลักษณ์ของเรา การที่คุณตีตราว่านอนไบนารีที่เราใช้นิยามตัวเองเป็นอาการป่วยทางจิตเท่ากับว่าคุณไม่เคารพอัตลักษณ์ของเรา
เราอยากให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ไม่มีการตัดสิน เราเข้าใจว่าคนเราไม่ได้เกิดมาพร้อมความเกลียดกลัวคนเพศหลากหลายทันที แต่ความเกลียดกลัวนี้สอดแทรกอยู่ทุกแง่มุมของสังคม อยู่คู่กับการเลี้ยงดูเติบโตของเรา เพราะฉะนั้น อยากชวนให้กลับมาทบทวนความเกลียดกลัวเหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวเองว่าได้รับจากอิทธิพลภายนอกหรือไม่ ถ้าเราตระหนักเรื่องนี้ เราก็สามารถเท่าทันตัวเองเพื่อหยุดส่งต่อความรุนแรงนี้และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
เป็นไปไม่ได้ที่สังคมเปลี่ยนแล้วโลกออนไลน์จะเปลี่ยนตามทันที เราทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันในทุกโครงสร้าง จากนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายมากขึ้น และละเอียดอ่อนมากขึ้น นำมาสู่นโยบายการออกแบบพื้นที่ออนไลน์ที่ต้องปลอดภัยกับเราจริงๆ
เวลาเราเห็นความรุนแรงที่เกิดกับคนเพศหลากหลายในโลกออนไลน์ เราจะรีพอร์ตว่าเป็น ‘violence against the community’ แต่เราได้ฟีดแบคกลับมาว่ามันไม่ใช่ความรุนแรง ทั้งที่เราเห็นชัดเจนในฐานะคนในคอมมูว่า นี่คือความรุนแรง
ทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องมีความละเอียดอ่อนในการจัดการกับความรุนแรงมากขึ้น ทางที่เราเชื่อว่าจะช่วยคือการเพิ่มความหลากหลายทางเพศหรืออัตลักษณ์อื่นๆ ในคนที่ทำงานในแพลตฟอร์มเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อคนทำงานมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ก็จะยิ่งมองเห็นความอ่อนไหวได้ละเอียดอ่อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับเรื่องเพศ
พิมพ์ - แทนฤทัย แท่นรัตน์ (She/Her)
เราเคยขับเคลื่อนกับกลุ่มสีดาลุยไฟ ตอนที่เป็นกระแสแรกๆ คลิปโปรโมทของเราเจอแค่คอมเมนต์วิจารณ์ คนไม่เข้าใจสีดาลุยไฟ และคนยังไม่มีความตระหนักเรื่องเพศเท่าไหร่ เราเลยตัดสินใจไปคอมเมนต์ประสบการณ์ของเรา
เราอธิบายว่าการที่เราโดนกระทำเพราะเป็น LGBTIQ+ อย่างไร เราอธิบายว่าโลกนี้ไม่สนับสนุน LGBTIQ+ อย่างไรบ้าง ที่บ้านไม่เข้าใจตัวตนของเรา เราโดนพี่ทำร้าย เราโดนผู้ชายพยายามจะข่มขืนด้วยแนวคิด “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” เพราะเขาไม่เชื่อว่าเราเป็นเลสเบี้ยน และพยายามจะบอกว่าเราเป็นแบบนี้เพราะยังไม่เจอผู้ชายที่ดีเท่านั้นแหละ
หลังเราเล่าเรื่องนี้ในคอมเมนต์ กลายเป็นว่ามีคนมาตอบกลับข้อความเราว่า เราเป็นคนที่แย่ เรื่องแบบนี้เกิดกับคนแย่ๆ เท่านั้น หรือเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเราไป “อ่อย” หรือเปล่า “สมควรโดนแล้ว” เขาโทษว่าเป็นความผิดเรา เราคิดมาตลอดว่า เราอยากให้เรื่องที่เราโดนข่มขืนเป็นกรณีสุดท้าย
อยากให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่เคารพกันและกัน ไม่ว่าเราจะมีความเห็นต่างอย่างไร โลกออนไลน์มีคนทุกรุ่น บางครั้งเกิดการข่มกันด้วยอายุ ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าเราต้องฟังเขาเพราะเขาโตกว่า แต่พื้นฐานของการฟังกันและกันอยู่ที่การเคารพกันมากกว่า ถ้าเราให้เกียรติกัน การแชร์เรื่องต่างๆ บนพื้นที่ออนไลน์จะง่ายขึ้น ซึ่งหลายๆ ครั้ง การแชร์เรื่องราวของตัวเองก็เป็นประโยชน์กับคนอื่น เมื่อมีการให้เกียรติและรับฟังกันมากขึ้น จะมีคนใหม่ๆ กล้าแบ่งปันเรื่องราวมากขึ้น
ทุกเรื่องราวมีทั้งความเจ็บปวดและกำลังใจอยู่ในนั้น การได้แบ่งปันอาจเป็นการช่วยฮีลใจตัวเอง และได้รับเสียงตอบรับที่สนับสนุนจิตใจซึ่งกันและกัน การแบ่งปันเช่นนี้จะทำให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่มีแต่ความรักซึ่งกันและกัน
พีช - วุฒิชัย พรหมอักษร (She/Her)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่เคยเจอการเหยียดเพศในโลกออนไลน์ เราเคยโพสต์ในโซเชียลมีเดียเรื่องความสำเร็จที่เราเรียนจบครู แต่เราเจอคอมเมนต์ว่า “ถ้าครูเป็นแบบนี้แล้วเด็กจะเป็นแบบไหน” เขาเชื่อว่าครูต้องอยู่ในกรอบและต้องเป็นแม่พิมพ์ของชาติ เขากลัวว่าเราจะสอนเด็กให้เป็นแบบเรา สำหรับคนนอก มันอาจดูเป็นคำพูดที่ไม่รุนแรง แต่สำหรับคนเพศหลากหลาย เรามองว่าการพูดแบบนี้ไม่โอเค
ครั้งแรกๆ ที่เราเจอ เรารู้สึกดาวน์ เหมือนโดนดูถูก เหมือนเขาตีตราว่าเราเป็นตุ๊ดจะเป็นครูได้อย่างไร ทำให้เราเริ่มคิดว่าหรือเราไม่เหมาะกับการเป็นครูจริงๆ เพราะเราเป็นกะเทย แต่พอเราเริ่มมาทำงานกับคนในชุมชนเพศหลากหลาย และทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เรามองว่าคำพูดเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราเดินหน้าต่อ เราอยากทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้
ถ้าข้อความเหยียดเพศเกิดขึ้นในโซเชียล แน่นอนว่าต้องกระทบคนเพศหลากหลาย หรือคนที่อยู่ในสายงานเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนจะมี defense mechanism ที่เข้มแข็ง ถ้าเจออะไรแบบนี้ เขาอาจจะดิ่ง และนอกจากเสียความรู้สึก เขาอาจจะเสียงานด้วย
ในจินตนาการของเรา พื้นที่ที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่ทุกคนเคารพคำว่าคนของคนอื่น เราอยากให้คน LGBTIQ+ ถูกมองว่าเป็นคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เวลาเราลงภาพในโลกออนไลน์ อยากให้เห็นเราเป็นคนหนึ่งที่เป็นครูที่แสดงออกแบบนี้ ไม่ใช่ในฐานะครูที่เป็นกะเทย แต่เป็นครูที่จะสามารถแสดงออกอย่างไรก็ได้
เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนที่ตัวเรา ถ้าเราไม่ชอบอะไร เราไม่ควรทำแบบนั้นกับคนอื่น ถ้าเราคิดว่าการกระทำแบบไหนจะมีผลกระทบกับเรา แน่นอนว่ามันต้องกระทบคนอื่น เราควรเริ่มจากสังคมเล็กๆ แล้วค่อยเปลี่ยนที่สังคมใหญ่
ไอซ์ - หฤษฏ์ วิริยะอารีธรรม (She/Her)
เราไปร่วมเดินไพรด์ที่เชียงใหม่และมีเพจนำรูปไปลง มีคนคอมเมนต์ว่า “ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ จะเรียกร้องสิทธิอะไรเยอะแยะ” หลังจากนั้นก็มีคนมาโต้ตอบ บอกให้เปิดใจ ตอนนี้โลกก้าวหน้าไปไกลแล้ว
นอกจากนี้ เพื่อนเราที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศเหมือนกันก็โดนเหยียดเพศ โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิงข้ามเพศที่เป็น Sex worker ซึ่งโดนเอารูปไปนินทาในกลุ่มปิดเกี่ยวกับเรื่องอาชีพของเขา
เราคิดว่าในอดีตโลกออนไลน์น่ากลัวสำหรับ LGBTIQ+ แต่ตอนนี้โอเคกว่าเมื่อก่อนมาก จากเดิมที่เราต้องแอบๆ ซ่อนๆ กลัวว่าคนจะวิจารณ์ แต่ตอนนี้การยอมรับดีกว่าสมัยก่อน
ถ้าไม่มีรุ่นพี่ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นๆ ที่เปิดตัวตนในโลกออนไลน์ เราก็ไม่กล้าที่จะพูดคุย เพราะไม่รู้ว่าถ้าพูดแล้วจะได้รับการตอบกลับอย่างไร อินฟลูหลายคนเป็นทรานส์ หรือ LGBTIQ+ ได้แชร์ประสบการณ์ที่เขาได้เจอ เรารู้สึกว่าเราก็มาปรับใช้ได้
ถ้าโลกออนไลน์ปลอดภัย เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ในเซฟโซน ทุกคนยอมรับเรา และไม่มีความเกลียดชัง เราได้โชว์ศักยภาพของเราอย่างเต็มที่
โลกออนไลน์ที่ปลอดภัยขึ้นอยู่กับทัศนคติที่เปิดกว้าง ถ้าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้เปิดรับแค่ชายหญิงเท่านั้น เราก็จะสบายใจและกล้าโพสต์ตัวตนเราได้เต็มที่
ไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้งญาติ หรือเพื่อน อยากให้เขาเปิดใจกับเรา และเข้าใจว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ชายหญิง เราอยากให้เขาตระหนักว่าความหลากหลายมีอยู่ เราไม่ได้อยากให้คนมองว่าเราแตกต่างหรือแตกแยก เราอยากมีตัวตนเหมือนกันคนอื่นๆ
#WeAreManushyan ♾️ Equal Human Beings
✊🏻 มูลนิธิมานุษยะขอยืนหยัดเคียงข้างผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ และ Hate speech
ก่อนจะกดออก…
อ่านสัมภาาณ์จาก "จิ้บ" แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักกิจกรรมที่อยากเห็นอำนาจทหารหมดไปจากการเมืองไทย 👉🏻 https://www.manushyafoundation.org/post/youthspeakdemocracy-jib-uftd-interview
อ่านสัมภาษณ์จาก “เก็ท” โมกหลวงริมน้ำ นักกิจกรรมที่ฝันอยากให้ไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก 👉🏻 https://www.manushyafoundation.org/post/youthspeakdemocracy-get-freespeech-interview-th
อ่านสัมภาษณ์จาก “บุ้ง” - เนติพร เสน่ห์สังคม จากกลุ่มทะลุวัง นักกิจกรรมที่มุ่งมั่นผลักดันเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทย 👉🏻 https://www.manushyafoundation.org/post/youth-speak-democracy-bung-monarchyreform-interview-th
นอกจากนี้ เราขอนำเสนองานที่ผ่านมาในการสนับสนุนประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และต่อสู้เพื่อความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ การเสริมพลังให้ผู้นำหญิง และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
➡️ เราได้จัดทำเอกสารร่วมเกี่ยวกับสิทธิของ SOGIESC และอีกฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเยาวชนและเด็ก LGBTIQ+ สำหรับ UPR ครั้งที่ 3 ของประเทศไทย เพื่อรายงานการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล LGBTIQ+ ในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังเตรียมเอกสารข้อเท็จจริงของ UPR Advocacy เกี่ยวกับสถานการณ์ของบุคคล LGBTIQ+
➡️ เราเผยแพร่รายงาน ‘Everything You Need to Know about #WhatsHappeningInThailand’
ร่วมกันกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอีก 50 กลุ่ม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการ UPR ของไทย รายงานนี้อธิบายภาพรวมของประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศและข้อแนะนำของเราในการพัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้น
➡️ เราจัดทำและเผยแพร่รายงาน CEDAW ฉบับภาคประชาสังคม ร่วมกับกลุ่มเฟมินิสต์และกลุ่มสนับสนุนสิทธิสตรี รายงานนี้พูดถึงปัญหาของผู้หญิงทุกคนและเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราที่จะผลักดันหลักการเฟมินิสม์แบบอัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectional Feminism) และขับเคลื่อนให้ผู้นำหญิงเป็นศูนย์กลางของงานสิทธิมนุษยชนในไทยและเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน!
➡️ เราตีแผ่สถานการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย ซึ่งต้องเจอกับความท้าทายในการทำงาน เนื่องจากแทบไม่มีพื้นที่การแสดงออกและยังเผชิญปัญหาจากร่าง พ.ร.บ.เอ็นพีโอ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้มงวดและมีเป้าหมายเพื่อควบคุมและลงโทษภาคประชาสังคม
➡️ นอกจากนี้ เรายังจัดทำเอกสารร่วมเรื่อง 'สิทธิดิจิทัลในประเทศไทย' สำหรับ UPR ครั้งที่ 3 ของประเทศไทย และ 'เอกสารข้อเท็จจริง UPR Advocacy Factsheet ว่าด้วยสิทธิดิจิทัลในประเทศไทย' เพื่อแสดงให้เห็นถึงการละเมิดกฎหมายของประเทศไทยที่มุ่งจำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนทางออนไลน์
➡️ เราเปิดตัวแคมเปญเพื่อ #StopDigitalDictatorship ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อสู้กับเผด็จการดิจิทัลในภูมิภาค
#InternationalDayforCounteringHateSpeech #NoToHate #ChallengeHateOnline #HateSpeechDay #NoToHateSpeech #ZeroDiscrimination #BreakingTheSilence #LGBTIQVoices #SafeInternet
Comments