top of page
Writer's pictureManushya Foundation

‘รำลึก 17ปี #นวมทอง ไพรวัลย์ กับการพลีชีพเพื่อต่อต้านรัฐประหารปี 2549’



เกิดอะไรขึ้น?


ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ก.ย. 2549 11 วัน หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ได้ปรากฏภาพข่าวของนาย ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย วัย 60 ปี คนขับแท็กซี่ ซึ่งขับรถแท็กซี่สีม่วงของเขาพุ่งชนรถถังของ คมช. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส


ซึ่งสาเหตุที่นวมทองได้ตัดสินใจทำไปเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความถูกต้องและตนเห็นว่าการที่ประชาชนถ่ายรูปและนำดอกไม้ไปให้ทหารถือเป็นเรื่องที่ไร้สาระ จึงนำไปสู่การแสดงออกที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหาร


ในเวลาต่อมา พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้สัมภาษณ์ว่า “คงไม่มีคนไทยคนใดที่มีอุดมการณ์สูงถึงขนาดที่ต้องทำร้ายตัวเอง โดยการทำลายชีวิต เพื่อประชดหรือเรียกร้องให้ต่อต้านการรัฐประหาร


หลังจากนั้น นวมทองได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ยืนยันเจตนาว่าต้องการ ‘พลีชีพ’ เพื่อประชาธิปไตย ใจความดังนี้


บ้านเมืองมันไปถึงไหนกันแล้ว มันไม่ควรมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ระหว่างขับรถแท็กซี่ ผู้โดยสาร 10 กว่ารายไม่มีใครชอบทั้งนั้น ต่อต้านทั้งนั้น ในใจก็คิดว่า…ลุงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อต้าน ยิ่งคุณไปปิดข่าวชาวบ้านว่ามีแต่คนสนับสนุน เอามาถ่ายเป็นแบ็กกราวนด์อะไร มันไร้สาระสิ้นดี อีกทั้งลุงต้องการให้โลกรู้ ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ ว่าปฏิวัติครั้งนี้มีแท็กซี่ชนรถถังจนกระทั่งตัวตาย ลุงบอกตรงๆ ว่า ลุงไม่อยากจะอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ ประเทศเรา ถ้าปฏิวัติอีก มันก็เหมือนกับพม่า”


เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น?

ในคืนวันที่ 31 ต.ค.49 1 เดือนหลังจากพักรักษาตัวจากเหตุการณ์ครั้งก่อน นาย ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ได้ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมกับมีจดหมายลาตาย2ฉบับ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า เขาต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" อีกทั้งเขายังมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ขับรถแท็กซี่ชนรถถังไว้ในตอนหนึ่งว่า เป็นความตั้งใจพลีชีพ แต่คำนวณความเร็วผิดพลาด โดยในวันที่เขาตัดสินในผูกคอตายเขาได้สวมเสื้อที่สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่ถูกใช้ในการการต่อสู้ทางการเมือง โดยด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา ที่ว่า “อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน” - กุหลาบ สายประดิษฐ์

ร่วมรำลึกถึง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’


โดยหลังจากการจากไปของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ชื่อของนวมทองได้ถูกใช้ในฐานะของสัญลักษณ์ของต่อต้านรัฐประหาร โดยมีการใช้เป็นครั้งแรกในปี 2550 เมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดพิมพ์หนังสือ ‘รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หนังสือรวมบทความวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยในหน้ารองปกของหนังสือดังกล่าวมีคำจารึกว่า "แด่ นวมทอง ไพรวัลย์” อีกทั้งถาวรวัตถุได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงนวมทองน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2553 โดยระหว่างที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช. กำลังชุมนุมกันอยู่ที่ถนนราชดำเนินได้มีการปั้นรูปจำลองของนวมทองลักษณะครึ่งท่อนบนขนาดเท่าตัวจริง โดยมีการนำเลือดของคนเสื้อแดงซึ่งร่วมกับกลุ่มนปช.มาผสมในดินเหนียวที่ใช้ทำรูปปั้นด้วย รูปปั้นของนวมทองถูกตั้งไว้ในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่เมื่อมีการสลายการชุมนุมรูปปั้นของนวมทองก็ถูกยึดไป

ในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกๆปี ผู้คนมากมายมารวมตัวกันที่ "สดมภ์อนุสรณ์นวมทองไพร์วัลย์" ที่บริเวณใต้สะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อรำลึกถึงการพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ และต่อต้านรัฐประหารของเขา แม้ว่านวมทอง ไพรวัลย์จะเสียชีวิตไปนานถึง 17ปี แต่ชื่อและความทรงจำเกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ธรรมดาๆคนหนึ่งก็ยังไม่เลือนหายไป อย่างน้อยๆก็ในกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมทางการเมืองและที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวของเขา

#WeAreManushyan ♾️ Equal Human Beings

✊มานุษยะขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของนาย นวมทอง ไพรวัลย์ รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และประชาชนที่มีอุดมการณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยทุกคน เพราะเราเชื่อว่าเผด็จการจะเสื่อมอำนาจลงในสักวันหนึ่งและเมื่อถึงวันนั้นประชาธิปไตยจะกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง


#31ตุลาคม #17ปีนวมทองไพรวัลย์ #นวมทอง #นวมทองไพรวัลย์ #ประชาธิปไตย #ต่อต้านเผด็จการ #WhatIsHappeningInThailand #Thailand #Democracy #AgainstDictatorship


________


อ้างอิงจาก

  • 'นวมทอง ไพรวัลย์' แท็กซี่ชนรถถัง ต้านรัฐประหาร ประวัติศาสตร์สามัญชนที่ยังไม่ถูกลืม. the standard. October 27, 2023, https://thestandard.co/remembering-nuamthong-praiwan/

  • แด่ นวมทอง ไพรวัลย์ ในยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร. (2019, November 2). Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ. https://freedom.ilaw.or.th/node/749

  • ย้อนอ่าน จม. นวมทอง ไพรวัลย์ ก่อนปลิดชีพตัวเองใต้สะพานลอยต้านรัฐประหารวันนี้ 15 ปีก่อน. (2021, October 31). มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/politics/news_3018474


Comments


bottom of page